การเข้าเล่มหนังสือ แบบต่างๆ

โรงพิมพ์ จะมีวีธีการเข้าเล่ม แบบต่างๆ ดังนี้

  1. การเข้าเล่มกาวหัว
    การเข้าเล่มแบบนี้ใช้สำหรับพวกใบเสร็จแบบต่างๆ บิลเล่มเล็ก สมุดฉีก หรือกระดาษโน้ต เหมาะสำหรับให้ฉีกออกไปใช้โดยเฉพาะ วิธีการก็ง่ายมากเพียงแค่เอากระดาษมาเรียงกันเป็นตั้ง แล้วเอากาวลาเท็กซ์ ทาที่ขอบด้านบนบริเวณสัน ตรงหัวกระดาษ รอให้แห้งแล้วติดกระดาษห่อสัน ก็เป็นอันเสร็จ

 

  1. การเข้าเล่มแบบไสกาว
    ลองดูการเข้าเล่มของนิตยสาร หนังสือเรียน ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีนี้ทั้งนั้น เพราะราคาไม่แพงความทนทานก็พอใช้ได้เปิดไปเปิดมาจะมีหน้ากระดาษหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ยิ่งเราพยายามกางหนังสือ ออกมากๆก็จะหลุดง่าย การเข้าเล่มแบบนี้จะกางหนังสือออกมากไม่ได้ พอปล่อยมือหน้ากระดาษจะดีดกลับหุบเข้ามาเหมือนเดิม ถ้าเราขืนกางมากๆ ก็พาลหลุดออกมาเป็นแผ่น     วิธีเข้าเล่มแบบไสกาว เขาจะนำกระดาษที่เรียงหน้าเป็น เล่มแล้ว มาไสกระดาษด้านข้างให้เรียบก่อนแล้วจึงทากาว ที่ต้องไสสันก่อนก็เพื่อให้กาวแทรกซึมเข้าไปดีขึ้น การยึดติดก็จะดีขึ้น นั่นเป็นที่มาของคำว่า “ไสกาว”

 

  1. การเข้าเล่มแบบเย็บอก หรือเย็บมุงหลังคา

นิยมใช้เย็บสมุดของนักเรียนนักศึกษา หรือหนังสือที่มีจำนวนหน้าน้อยๆ ไม่เกิน 60 หน้า วิธีการก็คือ เอากระดาษทั้งเล่มมาเรียงกันแล้วพับครึ่งตามแนวตั้ง จากนั้นใช้ลวดเย็บกระดาษเย็บ

  1. การเข้าเล่มแบบเย็บกี่

การเข้าเล่มแบบเย็บกี่นี่ทนที่สุด กางออกได้มาก ยกตัวอย่างเช่น พจนานุกรม ดิกชันนารี สารานุกรม เล่มใหญ่ๆ จำนวนหน้ามากๆ บางเล่มเป็นพันหน้าก็มี เขาเข้าเล่มด้วยการเย็บกี่ทั้งนั้น วิธีการก็ยุ่งยากพอสมควร โดยเอากระดาษทั้งเล่มมาแยกออกเป็นส่วนย่อยหลายๆส่วน แล้วเย็บแยกแต่ละส่วนเป็นเล่มเหมือน เย็บอกในข้อสาม แต่ใช้ด้ายเย็บ จากนั้นเอาเล่มย่อยๆ มาร้อยรวมกันเป็นเล่มใหญ่อีกที แล้วจึงหุ้มด้วยปกอีกชั้น

 

     5.การเข้าเล่มโดยเข้าห่วง
การเข้าห่วง มีข้อดีที่ทำให้สามารถกางหนังสือออกจนสุดได้ นิยมใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ไม่หนาเกินไป และทำจำนวนน้อย เช่น ปฏิทิน ไดอารี่ หรือสมุดบันทึก อาจเลือกใช้ห่วงพลาสติก หรือห่วงเหล็กก็ได้ ห่วงเหล็กจะแข็งแรงกว่า แต่ราคาก็แพงกว่าเช่นกัน